วันเสาร์ที่ 23 มิถุนายน พ.ศ. 2555

สิทธิมนุษยชน


1.สิทธิมนุษยชน


      

        สิทธิมนุษยชน หมายถึง สิทธิขั้นพื้นฐานที่พึงมีโดยเสมอภาคกัน เพื่อการดำรงชีวิตได้อย่าง มีศักดิ์ศรีมีโอกาสเท่าเทียมกันในการเรียนรู้และพัฒนาศักยภาพของตนเองอย่างเต็มที่และสร้างสรรค์ ดังนั้นจึงเป็นสิทธิที่ได้มาพร้อมกับการเกิดและเป็นสิทธิติดตัวบุคคลนั้นตลอดไปไม่ว่าจะอยู่ในเขตปกครองใด หรือเชื้อชาติ ภาษา ศาสนาใด ๆ

        แนวคิดเกี่ยวกับมนุษย์ที่ว่า มนุษย์นั้นมีสิทธิหรือสถานะสากล ซึ่งไม่ขึ้นอยู่กับขอบเขตของกฎหมาย หรือปัจจัยท้องถิ่นอื่นใด เช่น เชื้อชาติ หรือ สัญชาติ
        จาก ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ข้อ 1 กล่าวว่า "มนุษยทั้งหลายทั้งหลายเกิดมามีอิสระเสรี เท่าเทียมกันทั้งศักดิ์ศรีและสิทธิ ทุกคนได้รับการประสิทธิ์ประสาทเหตุผลและมโนธรรม และควรปฏิบัติต่อกันอย่างฉันพี่น้อง
        ความดำรงอยู่ ความถูกต้อง และเนื้อหาของสิทธิมนุษยชน เป็นหัวข้อที่เป็นที่โต้เถียงกันมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งในทางปรัชญาและรัฐศาสตร์ ตามกฎหมายแล้ว สิทธิมนุษยชนได้ถูกบัญญัติเอาไว้ในกฎหมายและข้อตกลงระหว่างประเทศ และในกฎหมายภายในของหลายรัฐ อย่างไรก็ตาม สำหรับคนจำนวนมากแล้ว หลักการของสิทธิมนุษยชนนั้นกินขอบเขตเลยไปกว่ากฎหมาย และก่อร่างขึ้นเป็นหลักศีลธรรมพื้นฐานสำหรับวางระเบียบภูมิศาสตร์การเมืองร่วมสมัย สำหรับคนกลุ่มนี้แล้ว สิทธิมนุษยชนคือความเสมอภาคในอุดมคติ

 สิทธิมนุษยชนตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ


        ประเทศไทยได้ให้สัตยาบันปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ตั้งแต่ พ.ศ.๒๔๙๑ ในฐานะ ที่เป็นสมาชิกองค์การสหประชาชาติ โดยประเทศสมาชิกต่างมีเจตจำนงประการสำคัญว่า การคุ้มครองสิทธิ-มนุษยชนอย่างมีประสิทธิภาพ เป็นเงื่อนสำคัญประการหนึ่งที่จะก่อให้เกิดสันติภาพในประเทศสมาชิก ที่ร่วมองค์กรและสังคมระหว่างประเทศ ดังนั้น ประเทศไทยจึงมีพันธกรณีที่จะต้องปฏิบัติตามสนธิสัญญาต่าง ๆ เช่น กฎบัตรสหประชาชาติ, ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน, กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางแพ่ง, การเมือง, สังคม, เศรษฐกิจ และวัฒนธรรม ตลอดจนกติการะหว่างประเทศที่ว่าด้วยการจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีทุกรูปแบบ ฯลฯ เป็นต้น

บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญกับสิทธิมนุษยชน

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๔๐ เป็นรัฐธรรมนูญฉบับแรกที่มีสาระสำคัญเพื่อการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน เพื่อให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการปกครอง และตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐเพิ่มขึ้น ตลอดจนปรับปรุงโครงสร้างทางการเมืองให้มีเสถียรภาพและประสิทธิภาพยิ่งขึ้น โดยคำนึงถึงความคิดเห็นของประชาชนเป็นสำคัญ ซึ่งมีบทบัญญัติมาตรา ๑๙๙ และ มาตรา ๒๐๐ บังคับไว้ในส่วนที่ ๘ ที่ว่าด้วย “คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ” ซึ่งมีฐานะเป็นองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ ต่อมาได้ประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐ ได้บัญญัติไว้ในหมวด ๑๑ ส่วนที่ ๒ ว่าด้วยองค์กรอื่นตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งมีสาระสำคัญ ดังนี้
มาตรา ๒๕๖ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ประกอบด้วย ประธานกรรมการคนหนึ่งและกรรมการอื่นอีกหกคน ซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งตามคำแนะนำของวุฒิสภา จากผู้ซึ่งมีความรู้หรือประสบการณ์ด้านการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนเป็นที่ประจักษ์ ทั้งนี้ โดยต้องคำนึงถึงการมีส่วนร่วมของผู้แทนจากองค์การเอกชนด้านสิทธิมนุษยชนด้วย กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ มีวาระการดำรงตำแหน่งหกปีนับแต่วันที่พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้ง และให้ดำรงตำแหน่งได้เพียงวาระเดียว สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติเป็นหน่วยงาน ที่เป็นอิสระในการบริหารงานบุคคล การงบประมาณ และการดำเนินการอื่น ตามที่กฎหมายบัญญัติ
มาตรา ๒๕๗ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ มีอำนาจหน้าที่ ดังต่อไปนี้
(๑) ตรวจสอบและรายงานการกระทำหรือการละเลยการกระทำ อันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน หรือไม่เป็นไปตามพันธกรณีระหว่างประเทศเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนที่ประเทศไทยเป็นภาคี และเสนอมาตรการการแก้ไขที่เหมาะสมต่อบุคคลหรือหน่วยงานที่กระทำหรือละเลยการกระทำดังกล่าวเพื่อดำเนินการ ในกรณีที่ปรากฏว่าไม่มีการดำเนินการตามที่เสนอ ให้รายงานต่อรัฐสภาเพื่อดำเนินการต่อไป
(๒) เสนอเรื่องพร้อมด้วยความเห็นต่อศาลรัฐธรรมนูญ ในกรณีที่ เห็นชอบตามที่มีผู้ร้องเรียนว่า บทบัญญัติแห่งกฎหมายใดกระทบต่อสิทธิมนุษยชนและมีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ทั้งนี้ ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ
(๓) เสนอเรื่องพร้อมด้วยความเห็นต่อศาลปกครอง ในกรณีที่เห็นชอบตามที่มีผู้ร้องเรียนว่า กฎ คำสั่ง หรือการกระทำอื่นใดในทางปกครองกระทบต่อสิทธิมนุษยชนและมีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย ทั้งนี้ ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง
(๔) ฟ้องคดีต่อศาลยุติธรรมแทนผู้เสียหาย เมื่อได้รับการร้องขอจาก ผู้เสียหายและเป็นกรณีที่เห็นสมควรเพื่อแก้ไขปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนเป็นส่วนรวม ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายบัญญัติ
(๕) เสนอแนะนโยบายและข้อเสนอในการปรับปรุงกฎหมาย และ กฎ ต่อรัฐสภาหรือคณะรัฐมนตรีเพื่อส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน
(๖) ส่งเสริมการศึกษา การวิจัย และการเผยแพร่ความรู้ด้านสิทธิมนุษยชน
(๗) ส่งเสริมความร่วมมือและการประสานงานระหว่างหน่วยราชการ องค์การเอกชน และองค์การอื่นในด้านสิทธิมนุษยชน
(๘) จัดทำรายงานประจำปีเพื่อประเมินสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนภายในประเทศและเสนอต่อรัฐสภา
(๙) อำนาจหน้าที่อื่นตามที่กฎหมายบัญญัติ
ในการปฏิบัติหน้าที่ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติต้องคำนึงถึงผลประโยชน์ส่วนรวมของชาติและประชาชนประกอบด้วย
คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติมีอำนาจเรียกเอกสารหรือ หลักฐานที่เกี่ยวข้องจากบุคคลใด หรือเรียกบุคคลใดมาให้ถ้อยคำ รวมทั้งมีอำนาจอื่นเพื่อประโยชน์ในการปฏิบัติหน้าที่ ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายบัญญัติ

สิทธิมนุษยชน คืออะไร

        รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๔๐ มาตรา ๓๓๔ (๑) กำหนดบังคับไว้ให้ออกกฎหมายว่าด้วยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ภายใน ๒ ปี นับแต่วันที่รัฐธรรมนูญใช้บังคับ รัฐบาลจึงได้ออกกฎหมายมารองรับ เรียกว่า “พระราชบัญญัติคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๔๒” ซึ่งมีประเด็นสำคัญ พอสรุปได้ดังนี้
(๑) มาตรา ๓ ให้คำจำกัดความว่า “สิทธิมนุษยชน” หมายความว่า ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาคของบุคคลที่ได้รับการรับรอง หรือคุ้มครอง ตามรัฐธรรมนูญแห่ง ราชอาณาจักรไทย หรือตามกฎหมายไทย หรือตามสนธิสัญญาที่ประเทศไทยมีพันธกรณีที่ต้องปฏิบัติตาม
        ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ หรือศักดิ์ศรีความเป็นคนเป็นสิ่งที่ทุกคนมีติดตัวมาแต่กำเนิด โดยไม่แบ่งแยกเชื้อชาติ สีผิว เพศ ภาษา ศาสนา ความคิดเห็นทางการเมืองหรือแนวคิดอื่น ๆ เผ่าพันธุ์ หรือสังคม ทรัพย์สิน ถิ่นกำเนิด หรือสถานะอื่น ๆ เช่น คนเราทุกคนมีสิทธิได้รับการยอมรับนับถือว่าเป็นบุคคลตามกฎหมายไม่ว่าที่ไหน เมื่อไร (ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ข้อ ๖)
        คนเราทุกคนเกิดมามีอิสระเสรี มีศักดิ์ศรี มีสิทธิเท่าเทียมกันหมดทุกคนได้รับการประสิทธิประสาทเหตุผลและมโนธรรม และควรปฏิบัติต่อกันฉันพี่น้อง (ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ข้อ ๑)
        รัฐธรรมนูญยังได้บัญญัติรับรอง กำชับ และเรียกร้องเมื่อถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนไว้ด้วย อย่างชัดเจน ได้แก่
(๒) มาตรา ๔ บัญญัติว่า “ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิ และเสรีภาพของบุคคลย่อมได้รับความคุ้มครอง”
(๓) มาตรา ๒๖ บัญญัติว่า “การใช้อำนาจโดยองค์กรของรัฐทุกองค์กร ต้องคำนึงถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิ และเสรีภาพ”
(๔) มาตรา ๒๘ บัญญัติว่า “บุคคลย่อมอ้างศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ หรือใช้สิทธิและเสรีภาพของตนได้เท่าที่ไม่ละเมิดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลอื่น ไม่เป็นปฏิปักษ์ต่อรัฐธรรมนูญ หรือไม่ขัดต่อศีลธรรมอันดีของประชาชน

 สิทธิมนุษยชนกับทหาร



        ทหารจำเป็นต้องได้รับความรู้เกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน ทั้งนี้เป็นผลสืบเนื่องจากกรณีเหตุการณ์ใช้กำลังเข้าระงับการชุมนุมระหว่างวันที่ ๑๗ - ๒๐ พฤษภาคม ๒๕๓๕ ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อ ๑๒ กันยายน ๒๕๓๕ รับทราบรายงานของคณะกรรมการกลั่นกรองรายงานผลการตรวจสอบข้อเท็จริงของเหตุการณ์ดังกล่าว และเห็นชอบตามข้อสังเกตและความเห็นของคณะกรรมการ ฯ โดยมีมาตรการที่เกี่ยวกับกระทรวงกลาโหม คือ
        ข้อ ๓ รับไปดำเนินการบรรจุวิชาว่าด้วยสิทธิมนุษยชนพื้นฐานในการแสดงออกอย่างเสรีในหลักสูตรการศึกษาทุกแขนง โดยเฉพาะการบรรจุวิชาว่าด้วยสิทธิมนุษยชนพื้นฐานในหลักสูตรวิชาทางทหาร ตำรวจ และนักปกครองระดับต่าง ๆ เพื่อให้ตระหนักในคุณค่าของสิทธิมนุษยชนและการปฏิบัติตนของเจ้าหน้าที่ของรัฐ ฯลฯ

 คณะกรรมการสิทธิมนุษยชน

ตามมาตรา ๒๕๖ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐ บัญญัติว่า คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ประกอบด้วย ประธานกรรมการคนหนึ่งและกรรมการอื่นอีกหกคน ซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งตามคำแนะนำของวุฒิสภา จากผู้ซึ่งมีความรู้หรือประสบการณ์ด้านการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนเป็นที่ประจักษ์ ทั้งนี้ โดยต้องคำนึงถึงการมีส่วนร่วมของผู้แทนจากองค์การเอกชนด้านสิทธิมนุษยชนด้วย
ให้ประธานวุฒิสภาเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการแต่งตั้งประธานกรรมการและกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
คุณสมบัติ ลักษณะต้องห้าม การถอดถอน และการกำหนดค่าตอบแทนกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ให้เป็นไปตามที่กฎหมายบัญญัติ
กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติมีวาระการดำรงตำแหน่งหกปีนับแต่วันที่พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้ง และให้ดำรงตำแหน่งได้เพียงวาระเดียว มีคุณสมบัติดังนี้

        มาตรา ๖ ของพระราชบัญญัติคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๔๒ ประธานคณะกรรมการ
๑. มีสัญชาติไทยโดยการเกิด
๒. มีอายุไม่ต่ำกว่าสามสิบห้าปีบริบูรณ์
๓. ไม่เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา ข้าราชการการเมือง สมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น
๔. ไม่เป็นผู้ดำรงตำแหน่งของพรรคการเมือง
๕. ไม่เป็นบุคคลวิกลจริต หรือจิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ
๖. ไม่ติดยาเสพติดให้โทษ
๗. ไม่เป็นบุคคลล้มละลาย
๘. ไม่เป็นบุคคลที่ต้องคำพิพากษาให้จำคุกและถูกคุมขังอยู่โดยหมายศาล
๙. ไม่เป็นบุคคลที่เคยต้องคำพิพากษาให้จำคุกตั้งแต่สองปีขึ้นไป โดยได้พ้นโทษมายังไม่ถึงห้าปีในวันได้รับการเสนอชื่อ เว้นแต่ในความผิดอันได้กระทำโดยประมาท
๑๐. ไม่เคยถูกไล่ออก ปลดออก หรือให้ออกจากราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจ หรือจากหน่วยงานของเอกชน เพราะทุจริตต่อหน้าที่ หรือเพราะประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง หรือถือว่ากระทำการทุจริตและประพฤติมิชอบในวงราชการ
๑๑. ไม่เคยต้องคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดินเพราะร่ำรวยผิดปกติ หรือมีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นผิดปกติ
๑๒. ไม่เป็นกรรมการการเลือกตั้ง ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา กรรมการป้องกันและปราบ-ปรามการทุจริตแห่งชาติ กรรมการตรวจเงินแผ่นดิน หรือสมาชิกสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
๑๓. ไม่เคยถูกวุฒิสภามีมติให้ถอดถอนออกจากตำแหน่ง

         มาตรา ๗ ของพระราชบัญญัติคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๔๒ ผู้ได้รับเลือกเป็นกรรมการต้อง
(๑) ไม่เป็นข้าราชการซึ่งมีตำแหน่งหรือเงินเดือนประจำ
(๒) ไม่เป็นพนักงานหรือลูกจ้างของหน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือของราชการส่วนท้องถิ่น หรือไม่เป็นกรรมการหรือที่ปรึกษาของรัฐวิสาหกิจหรือของหน่วยงานของรัฐ
(๓) ไม่ดำรงตำแหน่งใดในห้างหุ้นส่วนบริษัท หรือองค์การที่ดำเนินธุรกิจโดยมุ่งหาผลกำไรหรือรายได้มาแบ่งปันกัน หรือเป็นลูกจ้างของบุคคลใด
        เมื่อวุฒิสภาเลือกบุคคลตาม (๑) (๒) หรือ (๓) โดยได้รับความ ยินยอมของผู้นั้น ผู้ได้รับเลือกจะเริ่มปฏิบัติหน้าที่ได้ต่อเมื่อได้ลาออกจากการเป็นบุคคลตาม (๑) (๒) หรือ (๓) แล้ว ซึ่งต้องกระทำภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ได้รับเลือก แต่ถ้าผู้นั้นมิได้ลาออกภายในเวลาที่กำหนด ให้ถือว่าผู้นั้นไม่เคยได้รับเลือกให้เป็นกรรมการ และให้ดำเนินการสรรหาและเลือกกรรมการใหม่แทน
        เมื่อได้รับการคัดเลือกแล้ว พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งตามคำแนะนำของวุฒิสภาจากผู้ซึ่งมีความรู้และประสบการณ์ด้านคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนเป็นที่ประจักษ์ ทั้งนี้ “โดยต้องคำนึงถึงการมีส่วนร่วมของทั้งหญิงและชาย และผู้แทนขององค์การเอกชนด้านสิทธิมนุษยชนด้วย ( ม.๕ ) โดยกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติอยู่ในตำแหน่ง ๖ ปี นับแต่วันที่พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งและดำรง ตำแหน่งเพียงวาระเดียว (ม.๑๐ ว.๑)

การดำเนินงานของคณะกรรมการ

๑. คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนมีอำนาจตรวจสอบและเสนอมาตรการแก้ไขกรณีที่มีการกระทำหรือการละเลยการกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่มิใช่เป็นเรื่องที่มีการฟ้องร้องเป็นคดี อยู่ในศาล หรือที่ศาลพิพากษาหรือมีคำสั่งเด็ดขาดแล้ว (ม.๒๒)
๒. ผู้ที่ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนมีสิทธิยื่นคำร้องเป็นหนังสือต่อคณะกรรมการโดยผู้นั้นเอง หรือผู้ทำการแทน แจ้งการกระทำหรือการละเลยการกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน โดยยื่น ณ สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน โดยการร้องเรียนด้วยวาจาเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนให้กระทำได้ตามระเบียบที่คณะกรรมการกำหนด (ม.๒๓)
๓. ผู้ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนร้องต่อองค์การเอกชนด้านสิทธิมนุษยชน เมื่อองค์การเอกชนพิจารณาเบื้องต้นแล้วเห็นว่ากรณีมีมูลก็อาจเสนอเรื่องให้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนดำเนินการต่อไป (ม.๒๔)
๔. ผู้ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนสามารถนำคดีขึ้นฟ้องต่อศาลได้เหมือนคดีทั่วไป ตามแต่สิทธิที่ถูกลิดรอน เช่น ทางร่างกายก็ฟ้องต่อศาลอาญา ทางลิขสิทธิ์ก็นำคดีสู่ศาลทรัพย์สินทางปัญญา ฯลฯ เป็นต้น
โดยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนไม่มีอำนาจในการลงโทษผู้ละเมิด เพียงแต่แจ้งให้ผู้กระทำละเมิดได้ทราบว่าสิ่งที่กระทำนั้นละเมิดต่อผู้อื่น

ความเข้าใจเบื้้้องต้นในสิทธิมนุษยชน

        ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนนี้เป็นมาตรฐานร่วมกันแห่งความสำเร็จ สำหรับประชาชนทั้งหลายและประชาชาติทั้งปวง ด้วยจุดประสงค์ที่จะให้ปัจเจกบุคคลทุกผู้ทุกนามและองค์กรของสังคมทุกหน่วย โดยการระลึกเสมอ ๆ ถึงปฏิญญานี้ พยายามสั่งสอนและให้การศึกษาเพื่อส่งเสริมการเคารพต่อสิทธิและเสรีภาพเหล่านี้ และด้วยมาตรการที่เจริญก้าวหน้าไปข้างหน้า ทั้งในและระหว่างประเทศ เพื่อให้ได้มาซึ่งการยอมรับและการถือปฏิบัติต่อสิทธิเหล่านั้นสากล และได้ผลทั้งในหมู่ประชาชนของรัฐสมาชิกเอง และหมู่ประชาชนแห่งดินแดนที่อยู่ภายใต้ดุลอาณาของรัฐสมาชิกดังกล่าว
        ข้อ 1 มนุษย์ทั้งหลายเกิดมาอิสระเสรีและเท่าเทียมกัน ทั้งศักดิ์ศรีและสิทธิ ทุกคนได้รับการประสิทธิประสาทเหตุผลและมโนธรรม และควรปฏิบัติต่อกันอย่างฉันพี่น้อง
        ข้อ 2บุคคลชอบที่จะมีสิทธิและเสรีภาพประดาที่ระบุไว้ในปฏิญญานี้ ทั้งนี้โดยไม่มีการจำแนกความแตกต่างในเรื่องใด ๆ เช่นเชื้อชาติ สีผิว เพศ ภาษา ศาสนา ความเห็นทางการเมือง หรือทางอื่นใด ชาติหรือสังคมอันเป็นที่มาเดิม ทรัพย์สิน กำเนิด หรือสถานะอื่นใด
        นอกจากนี้การจำแนกข้อแตกต่างโดยอาศัยมูลฐานแห่งสถานะทางการเมืองทางดุลอาณาหรือทางเรื่องระหว่างประเทศของประเทศ หรือดินแดนซึ่งบุคคลสังกัดจะทำมิได้ ทั้งนี้ไม่ว่าดินแดนดังกล่าวจะเป็นเอกสารอยู่ในความพิทักษ์ มิได้ปกครองตนเองหรืออยู่ภายใต้การจำกัดแห่งอธิปไตยอื่นใด         ข้อ 3 บุคคลมีสิทธิในการดำรงชีวิตในเสรีธรรมและความมั่นคงแห่งร่างกาย
        ข้อ 4 บุคคลใดจะถูกบังคับให้เป็นทาส หรืออยู่ในภาวะจำยอมใด ๆ มิได้ การเป็นทาสและการค้าทาสจะมีไม่ได้ทุกรูปแบบ
        ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนในเบื้องต้น จะกล่าวถึงหลักการเบื้องต้นในการดำรงชีวิตของมนุษย์ในสังคมที่กล่าวไว้ในหลักการในการประกาศปฏิญญาสากล และปฏิญญากลในข้อ 1- ข้อ 4 เพื่อให้คนในสังคมอยู่ร่วมกันอย่างเป็นปกติสุข
        สิทธิ หมายถึง อำนาจอันชอบธรรม ซึ่งความถูกต้องชอบธรรมนั้นมีที่มาจากการเคารพซึ่งกันและกัน การใช้สิทธินั้น เราใช้ได้เท่าที่ไม่ไปละเมิดในสิทธิของผู้อื่น เช่น เคารพในสิทธิขั้นพื้นฐาน ซึ่งถือว่าเป็นความจำเป็นของชีวิต
        สิทธิมนุษยชน หมายถึง สิทธิขั้นพื้นฐานที่มนุษย์เกิดมาพร้อมกับความเท่าเทียมกันในแง่ของศักดิ์และสิทธิ์ เพื่อดำรงชีวิตอย่างมีศักดิ์ศรี โดยไม่คำนึงถึงความแตกต่างในเรื่องเชื้อชาติ สีผิว อายุ ศาสนา ภาษา และสถานภาพ ทางกายภาพและสุขภาพ รวมทั้งความเชื่อทางสังคม การเมือง ชาติกำเนิดเหล่านี้ คือสิทธิที่มีมาแต่กำนิด ไม่สามารถถ่ายโอนกันได้ เช่นสิทธิในร่างกาย สิทธิในชีวิต เป็นต้น
        สิทธิมนุษยชนมีความสำคัญในฐานะอารยธรรมโลก นับเป็นความฉลาดของมนุษย์ที่พยายามวางระบบคิดเพื่อให้คนทั้งโลกเกิดความตระหนักรู้และคิดคำนึงถึงคุณค่าของความเป็นมนุษย์ นับแต่ขั้นพื้นฐานของความเป็นมนุษย์ ศักดิ์ศรี ชาติกำเนิด รวมทั้งระบบสิทธิต่างๆที่มีพื้นฐานมาจากความชอบธรรม ซึ่งเป็นความชอบธรรมที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานแห่งสิทธิโดยกำเนิด สิทธิตั้งแต่เกิด การให้ความสำคัญกับคำว่า ชีวิต ว่าโดยพื้นฐานแล้ว มนุษย์และสัตว์โลกทั้งหลายล้วนต้องการปัจจัยในการดำรงชีวิตด้วยกันทั้งนั้น นับแต่ปัจจัยขั้นพื้นฐานที่ว่าด้วยอาหาร ยารักษาโรค ที่อยู่อาศัย เครื่องนุ่มห่ม การดำรงเผ่าพันธุ์ การมีชีวิตรอด ฯลฯ ความต้องการขั้นพื้นฐานเหล่านี้ นับเป็นปัจจัยสำคัญกับชีวิตเป็นที่สุด และเหมือนกันทั้งมนุษย์และสัตว์ ซึ่งสิทธิดังกล่าวหากเป็นความชอบธรรมของมนุษย์ก็คือ สิทธิมนุษยชน ทั้ง มนุษย์กับมนุษย์ มนุษย์กับสังคม มนุษย์กับธรรมชาติ และแม้แต่กับสัตว์ การคำนึงถึงสิทธิขั้นพื้นฐานมีความจำเป็นอยู่เสมอ เหล่านี้นับเป็นความสำคัญของสิทธิมนุษยชนที่สังคมโลกต่างให้ความตระหนัก การคำนึงถึงสิทธิดังกล่าว จะถือเป็นบันไดก้าวไปสู่ความยุติธรรมทางการเมือง สังคม เศรษฐกิจและการเมืองระหว่างประเทศที่จะดำเนินกิจกรรมต่างๆร่วมกัน

สรุป

        รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันให้ความสำคัญกับการคุ้มครองศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิและ เสรีภาพของบุคคล ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของสิทธิมนุษยชน และยังมีการจัดตั้งคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติขึ้น โดยให้มีหน้าที่ตรวจสอบ และรายงานการกระทำหรือละเว้นการกระทำที่ละเมิดสิทธิมนุษยชนตามกฎหมายไทย หรือตามพันธกรณีระหว่างประเทศที่ประเทศไทยได้ร่วมลงนาม โดยไม่ได้แบ่งแยกว่าบุคคลนั้นจะมีอายุเท่าไร เพศใด เชื้อชาติใด นับถือศาสนาและภาษาอะไร มีสถานภาพทางกายหรือฐานะใด หากบุคคลอยู่ในพื้นที่ที่ใช้รัฐธรรมนูญย่อมได้รับความคุ้มครองสิทธิ เสรีภาพ และมีความเท่าเทียมกันในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ด้วยเหตุนี้ในการปฏิบัติงานตามอำนาจหน้าที่ตลอดจนการตรากฎหมาย การตีความ และการบังคับใช้กฎหมายอาจมีการละเมิดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลตามรัฐธรรมนูญ หากถูกลิดรอนหรือถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนก็สามารถร้องเรียนต่อศาลเพื่อให้ดำเนินคดีได้

สถานการณ์เด่นด้านสิทธิมนุษยชนในมุมมองราชการ 

เมื่อวันที่ 27 เมษา 54 ได้ฟังบรรยายจาก อ.ไก่ ดร.เสรี นนทสูติ ในเรื่องสิทธิมนุษยชนและนโยบายทางเศรษฐกิจและสังคม
ตามความเข้าใจของผมเองเนื้อหาการบรรยายพอจะแบ่งได้เป็นสี่ส่วนหลักคื 1) ฐานความคิดเรื่องสิทธิมนุษยชน 2)สิทธิมนุษยชนในมุมเศรษฐกิจและสังคม  3)นโยบายรัฐกับบทความเรื่องจากครรภ์มารดาสู่เชิงตะกอน ของ อ. ป๋วย อึ๊งภากร และ 4)รัฐธรรมนูญต่อประชาชน

1.ฐานความคิดเรื่องสิทธิมนุษยชน
หลักสิทธิมนุษยชนเกี่ยวข้องกับมิติอื่นๆในสังคมแบ่งได้เป็น 6 ด้านคือ

  • พันธกรณีระหว่างประเทศ
  • แนวปฏิบัติของประเทศอื่น
  • ทัศนะคติต่อรัฐบาล
  • ปัจจัยด้านเศรฐษกิจ
  • ปัจจัยด้านการเมือง
  • รัฐธรรมนูญ
หากมองในภาพกว้างแล้วจะเห็นว่าเมื่อหลักสิทธิมนุษยชนมีปัจจัยที่เกี่ยวข้องหลายมิติ ก็แสดงว่ามีการละเมิดสิทธิในหลายมิติแช่นเดียวกันเป็นเงาตามตัว กล่าวคือ มีการละเมิดทั้งแนวราบ(ประชาชนด้วยกันเอง) และแนวดิ่ง(รัฐเป็นผู้ละเมิด)

กฎหมายเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนที่สำคัญ คือ UDHR ที่ถือได้ว่าเป็นต้นแบบของกฎหมายสิทธิมนุษยชนในปัจจุบัน UDHR ยังแตกแขนงกฎหมายที่สำคัญอีก สองฉบับ คือ ICCPR และ ICESCR ซึ่งกฎหมายทั้งสองฉบับนี้มีลักษณะและความมุ่งหมายที่ต่างกันคือ...
ICCPR มีเนื้อหาเกี่ยวกับสิทธิทางแพ่งและพลเมือง รวมถึงสิทธิทางการเมือง มุ่งเน้นให้รัฐรับรองคุ้มครองสิทธิในกับทุกคน และมีสถานเป็นสิทธิในเชิงปฏิเสธรัฐไม่ให้ก้าวล่วงเข้าไปในแดนเสรีภาพของประชาชน (negative status) หากมีการละเมิดสิทธิมนุษยชนก็จะมุ่งเยียวยาความเสียหาย
ICESCR มีเนื้อหาเกี่ยวกับเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม มุ่งเน้นให้รัฐรับรองคุ้มครองสิทธิให้กับทุกคนยกเว้นประเทศกำลังพัฒนา (อาจรับรองให้คนในรัฐเองก่อน) มีสถานะเป็นสิทธิในเชิงบวกที่เรียกร้องให้รัฐจัดทำเท่าที่ทำได้ (positive status) อาจกล่าวได่ว่า ทำสิทธิที่ได้รับการรับรองให้เป็นรูปธรรมที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ ด้วยเหตุนี้เองเนื้อหาของกฎหมายจึงค่อนไปในการจัดสรร/จัดการทรัพยากรเพื่อตอบสนองความต้องการดังกล่าว
อนึ่งแนวคิดของสิทธิมนุษยชนเองก็ยังมีแนวคิดที่ต่างกันบ้าง กล่าวคือ บางสังคมมองว่าเป็นสิ่งที่มีได้ทั่วไปไม่ความแตกต่างใดระหว่างบุคคล (Universality) เช่น เสรีภาพในชีวิต ร่างกาย ทรัพย์สินไม่ว่าอยู่ที่รัฐใดบุคลลย่อมต้องได้รับการคุ้มครอง ในขณะที่อีกแนวคิดหนึ่งมองว่าต้องคำนึงถึงข้อเท็จจริงที่ผูกโยงกันด้วย คือการรับรองสิทธมนุษยชนที่บุคคลได้รับการรับรองอาจต่างกันบ้างหากบุคคลนั้นมีข้อเท็จจริงที่ต่างกัน (Relativism) เช่น สิทธิทางการเมือง มักเป็นสิทธิเฉพาะของคนชาติ สิทธิทางการศึกษา สิทธิในการทำงาน คนชาติอาจมีโอกาสที่ดีกว่าคนต่างชาติ(โดยเฉพาะในประเทศ กำลังพัฒนา)

 2.สิทธิมนุษยชนในมุมเศรษฐกิจและสังคม
สิทธิทางเศรษฐกิจมุ่งเน้นไปในทางที่เรียกร้องให้รัฐจัดสรรบริการต่างๆเพื่อให้สิทธิที่ได้รับการรับรองเป็นจริง จึงต้องคำนึงถึงการจัดการทรัพยากรในเชิงสิทธิมนุษยชน ตัวอย่างที่เป็นรูปธรรมคือการจัดสรรงบประมาณแผ่นดิน
ก่อนจะไปสู่การจัดการงบประมาณแผ่นดิน อาจารย์ได้กล่าวถึงภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาซึ่งเป็นแหล่งที่มาที่สำคัญของงบประมาณแผ่นดิน นอกจากนั้นยังแสดงให้เห็นสัดส่วนของประชากรผู้เสียภาษี โดยคร่าวๆคือ ประเทศไทยมีประชากรประมาณ 63.5 ล้านคน ในขณะที่มีคนที่มีหน้าที่จ่ายภาษีเพียง 9 ล้านคน ยิ่งไปกว่านั้นมีคนที่จ่ายจริงเพียง 2.3 ล้านคน และภาษีเงินได้บุคคลธรรมดานี้ประมาณ 50 % มาจากคนเพียง 6 หมื่นคน กล่าวโดยสรุปว่า คน 2.3 ล้านคนกำลังป้อนภาษีเข้าสู่ระบบเพื่อตอบสนองความต้องการของคน 63.5 ล้านคน ดังนั้นการจัดสรรทรัพยากรจึงเป็นสิ่งสำคัญที่หลีกเลี่ยงไม่ได้เป็นอย่างยิ่ง
ตัวอย่างที่เป็นรูปธรรมคือการจัดสรรงบประมาณเพื่อตอบสนองสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม ที่สำคัญ คือ การศึกษา เช่น การเรียนฟรี กองทุนกู้ยืมเรียน การสนับสนุนสถาบันศึกษา ฯลฯ และการสาธารณะสุข เช่น โรงพยาบาล สถานีอนามัย การประกันสุขภาพ ฯลฯ ปัญหามีอยู่ว่าทุกคนมีสิทธิเท่าเทียมกันหรือไม่เพียงไร คนที่เสียภาษีมากกว่าได้สิทธิที่ดีกว่าหรือไม่?
ทั้งนี้การจะจัดสรรงบประมาณอย่างไรย่อมขึ้นอยู่กับรัฐบาลจะเห็นได้ว่าสิทธิมนุษยชนในมิตินี้เกี่ยวข้องกับปัจจัยด้านทัศนคติของรัฐบาลว่าเล็งเห็นถึงความสำคัญของสิทธิมนุษยชน ประกอบกับมีหลักการบริหารจัดการที่ดีเพียงใดมากน้อยเพียงใด  ทั้งยังเกี่ยวข้องกับปัจจัยทางการเมืองและเศรษฐกิจด้วย ตลอดจนปัจจัยอื่นๆด้วย

3. นโยบายรัฐกับบทความจากครรภ์มารดาสุู่เชิงตะกอน
เป็นบทความของอาจารย์ป๋วย อึ๊งภากร ที่สะท้อนให้เห็นความต้องการของคนในสังคมตั้งแต่อยู่ในครรภ์มาดาจนกระทั้งเสียชีวิต เป็นบทความที่เสนอแนวคิดว่ารัฐควรให้บริการสาธารณะในด้านใดบ้างอย่างเป็นรูปธรรม บทความนี้สั้นง่ายได้ใจความ และลึกซึ้ง  เนื้อหาของบทความเน้นให้รัฐรับรองและคุ้มครองสิทธทางเศรษฐกิจและสังคม เช่น สิทธิในการสาธารณสุข สิทธิในทางศึกษา สิทธิในการทำงาน หน้าที่ในการเสียภาษี เป็นต้น
ประเด็นที่ต้องพิจารณาตามมาคือความเท่าเทียม คือ ในเมื่อแต่ละคนเสียภาษีไม่เท่ากันบุคคลมีสิทธิได้รับการบริการจากรัฐเท่าเทียมกันหรือไม่ ?
ประเด็นนี้อธิบายได้ว่า ความเท่าเทียมไม่ได้อยู่ที่จำนวนเงินภาษี แต่อยู่ที่โอกาสในการเข้าถึงสิทธิที่รัฐรับรองคุ้มครอง  การจัดการบริการสาธารณะเป็นการเกลี่ยจากคนที่มีรายได้มากสู่คนที่มีรายได้น้อย  อาจเรียกได้ว่าเป็นการกระจายความมั่งคั่ง
แต่ถึงอย่างไรก็ดีเป้าหมายสูงสุดไม่ใช่การจัดสรรอย่างตัดปะเรื่อยไป แต่อยู่ที่การจัดการทรัพยากรอย่างยั่งยืน คือ ประชาชนส่วนใหญ่มีกำลังจ่ายภาษีได้และสามารถยืนหยัดได้ด้วยตนเอง สิทธิมนุษยชนก็จะได้รับการรับรองคุ้มครองอย่างยั่งยืนไปด้วยภายใต้ทรัพยากรที่จำกัด

4.รัฐธรรมนูญต่อประชาชน
รัฐธรรมนูญมีบริบทที่แตกต่างกันไปในแต่ละประเทศ เช่น ของประเทศเยอรมันมองว่าเป็น “กฎหมายพื้นฐาน” คือเป็นรากเหง้าของกฎหมายอื่ๆทั้งปวง  ในขณะที่ประเทศไทยมองว่าเป็นกฎมหายสูงสุดที่ให้อำนาจกฎหมายอื่นๆ กฎหมายใดจะขัดรัฐธรรมนูญไม่ได้
ในประเทศไทยที่มีทัศนคติว่า รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุด หากพิจารณาเนื้อหาจะพบว่ามีหลายส่วนที่แม้จะรับรองไว้แต่ก็ยังไม่เกิดขึ้นจริงอย่างชัดเจน ดังนั้นจึงกล่าวได้ว่าการเป็นการรับรองในลักษณะอุดมคติ เป็นเป้าหมายที่รัฐต้องการให้เกิดขึ้นกับสังคม  หน้าที่สำคัญของรัฐธรรมนูญคือการรับรองคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ(สิทธิมนุษยชน)ของประชาชน การรับรองเช่นว่านั้นจะไม่มีความหมายใดเลยหากปราศจากกำลังขับเคลื่อนจากองค์กรต่างๆและจากประชาชน สิ่งสำคัญคือทัศนคติของคนทั้งที่มีต่อรัฐธรรมนูญและสิทธิมนุษยชน และปัจจัยต่างๆที่ล้วนมีผลต่อการกำหนดนโยบายเศรษฐกิจและสังคมของรัฐทั้งสิ้น

สรุป 
สิทธิมนุษยชนไม่ว่าจะเป็นสิทธิทางเศรษฐกิจสังคมและวัฒนธรรมที่มีสถานะในเชิงบวก หรือ สิทธิทางการเมืองที่มีสถานในเชิงลบ ก็ล้วนมีต้นทุนด้วยกันทั้งสิ้น เพราะรัฐต้องจัดสรรทรัพยากร(เงิน คน เวลา ฯลฯ) มาเพื่อรับรองคุ้มครองสิทธิมนุษยชนดังกล่าว  การจัดการที่มีประสิทธิภาพและยั่งยืนเป็นสิ่งที่มีความจำเป็นอย่างยิ่งยวดเพราะมิเช่นนั้นการรับรองสิทธิอันหนึ่งอาจเป็นการละเมิดสิทธิอีกอันหนึ่งได้
ความเป็นไปได้ในการจัดการทรัพยการอย่างยั่งยืนคือการมีทัศนคติที่ดีต่อสิทธิมนุษยชนและในขณะเดียวกันต้องเข้าใจข้อจำกัดทางด้านทรัพยากรด้วย 

ตัวอย่างวิดีโอ





2.ความยุติธรรม


มนุษย์เป็นสัตว์ที่อยู่เป็นสังคม การที่อยู่ร่วมกันก็ย่อมมีการประพฤติปฏิบัติต่อกันและกัน รวมทั้งมนุษย์แต่ละคนย่อมมีแนวปฏิบัติของตนเองว่า จะกระทำอะไร อย่างไร ด้วยเหตุผลอะไร โดยธรรมชาติมนุษย์มีแนวโน้มที่จะใฝ่หาความสุข ความสบาย หลีกหนีความทุกข์ยาก ความลำบาก และโดยธรรมชาติมนุษย์อาจจะปฏิบัติต่อผู้อื่นอย่างเลวร้ายหรืออย่างเอารัดเอาเปรียบ หากว่าตนเองจะได้รับประโยชน์หรือความสุขความสบายเป็นเครื่องตอบแทนถ้าทุกคนปฏิบัติเช่นนั้นสังคมก็จะยุ่งเหยิงวุ่นวายที่สุดแล้วก็คงไม่มีใครที่จะอยู่ได้อย่างสุขสงบ
ดังนั้นจึงจำเป็นที่จะต้องมีกฏเกณฑ์ร่วมกัน การที่จะให้ผู้อื่นเคารพสิทธิของตนเองและไม่เบียดเบียนตนเอง ตนก็ต้องเคารพสิทธิของผู้อื่นและไม่เบียดเบียนผู้อื่น ตนเองอยากให้ผู้อื่นปฏิบัติต่อตนเองอย่างไร ก็ต้องปฏิบัติอย่างนั้นต่อผู้อื่น
ปราชญ์ในสมัยกรีกโบราณเช่น โสเครตีส เพลโต และอริสโตเติ้ลต่างก็พยายามหาคำตอบที่ว่า อะไรคือจุดมุ่งหมายสูงสุดของชีวิต? ความดีคืออะไร? และมนุษย์ควรจะปฏิบัติตนอย่างไร? เอาอะไรเป็นเกณฑ์ตัดสินว่าดี? ความดีนั้นเป็นสากลหรือไม่ หรือความดีจะเปลี่ยนไปตามสภาพแวดล้อมทางสังคมแต่ละยุคสมัย? ความยุติธรรมคืออะไรและใช้เกณฑ์อะไรตัดสิน?

ความยุติธรรมเป็นแม่แบบของแนวทางต่างๆ เป็นแนวทางในเกณฑ์การตัดสิน ซึ่งมีกฏหมายเป็นเครื่องมือในการทำหน้าที่ ความยุติธรรมนั้นเป็นเรื่องที่ละเอียดเพราะการที่คนเราจะกำหนดว่าอะไรคือความดี แล้วความดีกับความชั่วต่างกันตรงไหนเป็นเรื่องที่ต้องวิเคราะห์กันอย่างละเอียด

โสเครตีสเชื่อว่าถ้าเราไม่สามารถหาคำนิยามของคุณธรรมเหล่านี้ได้ เราก็จะไม่สามารถมีความรู้เกี่ยวกับคุณธรรมได้ และการตัดสินว่าการกระทำหนึ่งมีความยุติธรรม หรือกล้าหาญ ฯลฯ หรือไม่ ย่อมปราศจากหลักเกณฑ์ที่น่าเชื่อถือ

คุณแม่คนนึงแบ่งเค้กให้ลูกแฝดทั้งสองคน คุณแม่แบ่งให้ลูกคนที่โตกว่าไม่กี่ชั่วโมง น้อย กว่าอีกคน
คนโต บอกคุณแม่ไม่ยุติธรรม ถึงผมจะแก่กว่าไม่กี่ชั่วโมงก็ไม่ใช่ว่าผมจะได้เค้กน้อยกว่า(สมมติฮะสมมติ)
แล้วคุณคิดว่าความยุติธรรมคืออะไร
การแบ่งครึ่งๆ อย่างเท่ากัน หรือเปล่า.....
ขณะที่พี่คนโตกว่าบอกไม่ยุติธรรม ส่วนคนน้องว่ามันยุติธรรมดีแล้ว
หรือความยุติธรรมก็คือเรื่องของผลประโยชน์?

ความยุติธรรม คือ ยุติ และ ธรรม ตีความตามตัวอักษรได้ว่า เป็นธรรมอันนำไปสู่ความยุติ คือจบลงแห่งเรื่องราวJohn Lawl กล่าวไว้ว่า Justice is conditions of fair equality of opportunity

ในความเห็นราบูคิดว่าความยุติธรรมก็เหมือนกับประชาธิปไตยคือ ความคิดเห็นของคนส่วนมากที่มีความคิดเห็นอย่างเดียวกัน ผลประโยชน์ที่ได้รับคือผลประโยชน์ที่กลุ่มคนได้รับเหมือนกัน คิดว่าเหมือนผลประโยชน์ของส่วนรวมนั่นแหละ แน่นอนว่าบางครั้งความยุติธรรมมันต้องขัดกับผลประโยชน์ของคนกลุ่มๆนึง
ยกตัวอย่างเช่น การกำหนดให้มีกฎหมายบังคับใช้ในสังคม ถ้าคนไหนทำผิดตามหลักเกณฑ์ของสังคมนั้นจะมีบทบัญญัติในการลงโทษ ซึ่งคนส่วนมากเห็นด้วยกับหลักการข้อนี้ ตัวอย่างเช่น คนที่ขโมยของถูกปรับ ฯลฯ นั่นคือความยุติธรรมของสังคม
ความยุติธรรมเป็นตัวกำหนดทิศทางของสังคม ซึ่งความยุติธรรมของแต่ละสังคมไม่เหมือนกัน ยกตัวอย่างเช่น หากสังคมหนึ่งทุกคนเห็นพ้องต้องกันว่า การขโมยของเป็นเรื่องที่ถูกต้อง ถือว่ายุติธรรม ซึ่งในความเป็นจริงแล้วความยุติธรรมที่เป็นที่นิยมมากที่สุดเป็นความยุติธรรมที่ต้องอยู่คู่กับ คุณธรรมและจริยธรรม ที่เป็นเครื่องช่วยในการกำหนดกฎเกณฑ์ว่าสิ่งไหนเป็นสิ่งที่ดี ถูกต้อง และเหมาะสม แล้วความยุติธรรมแบบไหนที่คนส่วนมากจะยอมรับ

แนวคิดที่ยึดหลักคุณธรรม หรือคุณงามความดี (virtue)

อริสโตเติ้ลกล่าวว่า มนุษย์ทุกคนจะต้องเลือกเองว่าจะทำอะไรซึ่งดีสำหรับตนเอง และในขณะเดียวกันก็ดีสำหรับผู้อื่นด้วย ในการเลือกต้องใช้หลักของคุณธรรมมากกว่าที่เลือกตามความพอใจของตนเอง คุณธรรมสามประการที่อริสโตเติ้ลเน้นได้แก่
temperance (การรู้จักควบคุมตน, การข่มใจ,การรู้จักพอ),
courage (ความกล้าหาญ) ความกล้าหาญคือการเลือกตัดสินใจด้วยเหตุผลถึงแม้จะตระหนักถึงอันตรายที่อยู่ข้างหน้า ผู้ที่มีความกล้าหาญไม่ใช่ผู้ที่ปราศจากความกลัว แต่เลือกกระทำด้วยความเชื่อมั่นว่าสิ่งที่กระทำคือความถูกต้อง ไม่ใช่กล้าบ้าบิ่นขาดการไตร่ตรองด้วยปัญญา
justice (ความยุติธรรม) นั่นคือมนุษย์ทุกคนควรปฏิบัติต่อผู้อื่นด้วยความเท่าเทียมกันเหมือนที่อยากให้ผู้อื่นปฏิบัติต่อตนเอง

จริยธรรม หมายถึง ธรรมที่เป็นข้อประพฤติปฏิบัติ, ศีลธรรม, กฏศีลธรรม (1) ตรงกับคำในภาษาอังกฤษว่า ethic ซึ่งหมายถึง system of moral principles, rules of conduct (2) คำว่า ethic มีรากศัพท์มาจากคำว่า ethos ในภาษากรีกซึ่งหมายถึงข้อกำหนดหรือหลักการประพฤติปฏิบัติอย่างถูกต้อง และตรงกับคำในภาษาลาตินว่า mores ซึ่งต่อมากลายเป็นคำว่า morality ในภาษาอังกฤษ ( 3 )
คำว่า จริยศาสตร์ หมายถึง ปรัชญาสาขาหนึ่งว่าด้วยความประพฤติและการครองชีวิตว่า อะไรดีอะไรชั่ว อะไรถูกหรืออะไรผิด หรืออะไรควรอะไรไม่ควร (1) ตรงกับคำว่า ethics ในภาษาอังกฤษ


แนวความคิดเรื่องประโยชน์ส่วนรวม ( Utilitarianism)
เมื่อมนุษย์อยู่รวมกันเป็นสังคมใหญ่ก็จะทำให้เกิดข้อขัดแย้งว่า pleasure ของใครจะสำคัญกว่ากัน?คำถามเหล่านี้ได้รับการอธิบายโดยแนวความคิดที่ว่า การกระทำที่นำประโยชน์สูงสุด แก่จำนวนคนที่มากที่สุด และให้ประโยชน์ได้นานที่สุด คือแนวทางปฏิบัติของมนุษย์
  
ความยุติธรรมมีจริงหรือไม่ ? 
ความยุติธรรมนั้นเมื่อเราแยกจากหมวดหมู่ของคำ ก็จะรู้ว่า คำว่าความยุติธรรมนั้น เป็นนามธรรม(abstract noun) คือไม่มีตัวตนจับต้องไม่ได้ ตามหลักวิทยาศาสตร์จะขออธิบายดังนี้ ความยุติธรรมนั้นจับต้องไม่ได้ ความยุติธรรมมีจริงเพราะเป็นเครื่องมือของมนุษย์ที่ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อเป็นเงื่อนไขไปสู่ข้อยุติของปัญหานั้นๆ ความยุติธรรมสัมผัสได้ แต่สัมผัสได้ด้วยใจ(mind)เป็นเรื่องที่ค่อนข้างละเอียดอ่อนเพราะว่าจิตใจ (mental) ของคนเราไม่เหมือนกัน

 ความยุติธรรมในสังคม 

เราถือว่าปฏิบัติการเพื่อความยุติธรรมและการมีส่วนร่วมในการเปลี่ยนแปลงโลกเป็นมิติหนึ่งที่เป็นองค์ประกอบของการประกาศพระวรสาร” (ยล 6)

1.  ความเข้าใจเรื่องความยุติธรรม

1.1  ความคิดหลักเรื่องความยุติธรรม มีพื้นฐานมากจากหลักเหตุผลและหลักธรรมชาติ ซึ่งหยั่งรากลึกในธรรมชาติของมนุษย์ กล่าวคือ 
1.1.1  มนุษย์ในฐานะที่เป็นบุคคลจะอยู่โดดเดี่ยวตามลำพังคนเดียวไม่ได้ “Man is not an island”
1.1.2  มนุษย์ต้องมีความสัมพันธ์กับบุคคลอื่นและสิ่งที่มีชีวิตอื่น คือ กับพระเจ้า / สิ่งสูงสุด กับเพื่อนมนุษย์ และกับธรรมชาติ 
1.1.3  ในการปฏิสัมพันธ์กับบุคคลอื่นหรือสิ่งที่มีชีวิตอื่น เรียกร้องความยุติธรรมที่มิใช่แต่เพียงเราทำกับผู้อื่นหรือเพื่อผู้อื่น แต่เป็นความยุติธรรมที่เราต้องทำกับตนเองด้วย ความยุติธรรมจึงเป็นคุณธรรมที่สำคัญของการเจริญชีวิตจิต ในการมีความสัมพันธ์กับผู้อื่น

ความยุติธรรมในมุมมองนี้ คือ การมีสัมพันธภาพอย่างมีดุลยภาพที่ถูกต้อง สร้างสรรค์ และมีเสรีภาพ ในระหว่างมนุษย์กับมนุษย์ มนุษย์กับธรรมชาติ และมนุษย์กับพระเจ้า / สิ่งสูงสุด

1.2  ประเภทความยุติธรรมในสังคม





ความยุติธรรมในสังคม ในมิติความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับมนุษย์ และในระดับสังคมประเทศชาติ แบ่งออกเป็น 3 ประเภทคือ

1.2.1  ความยุติธรรมในการแลกเปลี่ยน (Commutative Justice /      Reciprocal Justice) เป็นความยุติธรรมที่อยู่ในความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล หรือกลุ่ม ที่มีข้อตกลงระหว่างกัน บนความถูกต้องและเท่าเทียมกัน
1.2.2  ความยุติธรรมในการแบ่งปัน (Distributive Justice) เป็นความยุติธรรมที่อยู่ในความสัมพันธ์ของสังคมใหญ่ ที่มีส่วนช่วยเหลือและแบ่งปันทรัพย์สิน ความมั่งคั่ง วิทยาการต่างๆ แก่ภาคส่วนอื่นๆ ของสังคม โดยมีหลักคิดว่าทุกคน      ต้องมีส่วนร่วมอย่างเต็มที่ และมีโอกาสเข้าถึงผลประโยชน์ส่วนรวมของสังคม อย่างเท่าเทียมกัน ความยุติธรรมในการแบ่งปันนี้ มีพื้นฐานความคิดมาจากเรื่องความดีของส่วนรวมหรือคุณประโยชน์ของส่วนรวม (Common Good) ซึ่งถ้าผนวกกับคำสอนของพระเยซูเจ้าในพระวรสารนักบุญมัทธิว 5:40-42 ความยุติธรรมในการแบ่งปันนี้มีความหมายที่ลึกซึ้งกว่า นั่นคือ การแบ่งปันตาม  ความจำเป็นของผู้รับ กล่าวคือ ผู้ที่มีความจำเป็นมากกว่าต้องได้รับส่วนแบ่งมากกว่า และที่สำคัญที่สุดคือ เป็นความรับผิดชอบของผู้ที่มีมากกว่าต่อผู้ที่มีน้อยกว่า ความยุติธรรมในลักษณะนี้เป็นบ่อเกิดแห่งความยุติธรรมในสังคม
1.2.3  ความยุติธรรมในทางกฎหมาย (Legal Justice) เป็นความยุติธรรมที่อยู่ในการดำรงความสัมพันธ์ที่ถูกต้องของบุคคล ระหว่างบุคคล กลุ่มบุคคลต่างๆ ในทุกภาคส่วนของสังคม และในสังคมใหญ่ความยุติธรรมในสังคมต้องมีองค์ประกอบของความยุติธรรมทั้ง 3 ประการนี้ จึงสรุปได้ว่า ความยุติธรรมในสังคมคือ การที่มนุษย์ยอมรับกัน เคารพและปฏิบัติต่อกันและกัน เพื่อนำมาซึ่งความยุติธรรมในการแบ่งปัน การช่วยเหลือกัน อันจะทำให้มนุษย์ดำรงชีวิตอย่างสมบูรณ์ ทั้งในด้านเศรษฐกิจ การเมือง สังคม และวัฒนธรรม  

2.  พื้นฐานแนวคิดความยุติธรรมในสังคม


ความยุติธรรมในสังคมมีรากฐานมาจากการไขแสดงของพระเจ้าในคริสตศาสนา โดยทางพระคัมภีร์ และจากคำสอนด้านสังคมของพระศาสนจักร
2.1  พระธรรมเดิม




2.1.1  งานสร้างมนุษย์ “ให้เราสร้างมนุษย์ตามฉายาตามอย่างของเรา ให้ครอบครองฝูงปลาในทะเล ฝูงนกในอากาศและฝูงสัตว์ ให้ปกครองแผ่นดินทั่วไป และสัตว์ต่างๆ ที่เลื้อยคลานบนแผ่นดิน พระจึงทรงสร้างมนุษย์ขึ้นตามฉายาของพระองค์ ตามพระฉายาของพระเจ้านั้น พระองค์ทรงสร้างมนุษย์ขึ้น และได้ทรงสร้างให้เป็นชายและหญิง” (ปฐก 1:26-27)


ก.  มนุษย์มีเกียรติและมีศักดิ์ศรี:
ให้เราสร้างมนุษย์ตามฉายา ตามอย่างของเรา เพราะมนุษย์....

·         มีจิตวิญญาณ มีความเป็นอมตะ-ความไม่มีขอบเขต
·         มีสติปัญญา มีความคิดสร้างสรรค์
·         มีอิสระภาพ อำเภอใจ น้ำใจ ความรัก
·         รู้จักใช้เหตุผล มีวิจารณญาณ มีมโนธรรมสำนึก ความรับผิดชอบ
·         มีขนบธรรมเนียมประเพณี วัฒนธรรม ภาษา และความเชื่อ
เอกลักษณ์และคุณลักษณะเด่นๆ เหล่านี้ เป็นการแบ่งปันชีวิตของพระเจ้าให้แก่มนุษย์ทำให้แตกต่างจากสรรพสิ่ง สรรพสัตว์ และทำให้มีเกียรติและมีศักดิ์ศรีที่เท่าเทียมกัน เป็นสิ่งสร้างที่ประเสริฐที่สุดในบรรดาสิ่งสร้างทั้งหลาย มนุษย์จึงต้องเคารพศักดิ์ศรียกย่องและให้เกียรติแก่กันและกัน

ข.  พระเจ้าทรงมอบหมายหน้าที่ให้แก่มนุษย์ พระองค์ทรงให้เกียรติแก่มนุษย์ในการครอบครองและปกครอง.... ให้ครอบครอง.... และปกครอง...

·         มนุษย์ต้องทำงาน – หน้าที่การงานจึงนำมาซึ่งเกียรติและทำให้ชีวิตมนุษย์มีคุณค่า ทั้งส่วนตัวและส่วนรวม ในหน้าที่การงานที่มนุษย์ทำนี้ยังหมายถึงการสานต่องานสร้างของพระเจ้า
·         พระเจ้าประทานทรัพยากรให้แก่มนุษย์ทุกคน ทุกคนมีสิทธิในการครอบครองและปกครอง จึงต้องมีการแบ่งปันทรัพยากรแก่กันและกัน พร้อมกับเคารพสิทธิของกันและกัน
·         การครอบครองและการปกครองสิ่งสร้างนั้น มิใช่ลักษณะของการเอาเปรียบธรรมชาติ ใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างสุรุ่ยสุร่าย – ไม่บันยะบันยัง – ไม่เคารพธรรมชาติ แต่มนุษย์ต้องมีท่าทีของการเคารพธรรมชาติและบำรุงรักษาธรรมชาติ เพื่อการดำรงชีวิตอยู่อย่างเกื้อกูลกันและกัน และส่งเสริมกันและกัน

ค.  ความเสมอภาคในความเป็นมนุษย์ – ในเกียรติและศักดิ์ศรีของชายและหญิง “ทรงสร้างให้เป็นชาย และเป็นหญิง

·         ไม่ใช่ชายใหญ่ (สูง) กว่าหญิง หรือหญิงใหญ่ (สูง) กว่าชาย
·         ความเป็นชายและความเป็นหญิง เป็นคุณค่าที่เสริมสร้าง – เกื้อกูลกันและกันในการดำรงชีวิต และเติมชีวิตให้สมบูรณ์
·         มนุษย์ทุกคนเป็นบุตรของพระเจ้า เป็นพี่น้องร่วมในองค์พระบิดาเดียวกัน
ความยุติธรรมมีรากฐานมาจากการเคารพในเกียรติและศักดิ์ศรีของบุคคล มาจากการเคารพและตระหนักว่าทุกคนมีสิทธิที่จะได้รับในสิ่งที่เขาต้องการหรือมีความจำเป็นในการดำรงชีวิต และมาจากการเคารพว่าทุกคนมีเอกสิทธิ์ในการตัดสินใจด้วยตนเองที่จะดำเนินชีวิต
2.1.2  พระเจ้าเปิดเผยตัวพระองค์เป็นผู้ปลดปล่อยผู้ถูกกดขี่เมื่อมีการกระทำที่อยุติธรรม
พระเจ้าตรัสว่า “เราเห็นความทุกข์ของประชากรของเราที่อยู่ในประเทศอียิปต์แล้ว เราได้ยินเสียงร้องของเขา เพราะการกดขี่ของพวกนายงาน เรารู้ถึงความทุกข์ร้อนต่างๆ ของเขา เราลงมาเพื่อจะช่วยเขาให้รอดจากมือชาวอียิปต์ และนำเขาออกจากประเทศนั้น ไปยังแผ่นดินที่อุดมกว้างขวาง เป็นแผ่นดินที่มีน้ำนม และน้ำผึ้งไหลบริบูรณ์...........” (อพย 3:7-10)
2.1.3   พระคัมภีร์ได้อธิบายความยุติธรรมว่าเป็นธรรมชาติของพระเจ้า
·         “เพราะพระเจ้า เป็นพระเจ้าแห่งความยุติธรรม” (อสย 30:18)
·         “เพราะทรงให้ความยุติธรรมและความเที่ยงตรงแก่ข้าพระองค์” (สดด 9:4)
ความยุติธรรมมิใช่เป็นเรื่องของนามธรรม ประชากรชาวอิสราเอลมีประสบการณ์กับธรรมชาติและกิจการการปลดปล่อยของพระเจ้า จำต้องสนองตอบด้วยการมีความเชื่อและปฏิบัติความยุติธรรมต่อเพื่อนบ้านด้วย เช่น ฉลบ 24:14-15, สดด 106:3และ อสย 58:6-10

2.2  พระธรรมใหม่





2.2.1  พันธกิจการไถ่กู้ของพระเยซูเจ้า “พระจิตของพระเจ้าทรงอยู่เหนือข้าพเจ้า เพราะพระองค์ทรงเจิมข้าพเจ้าไว้ ให้ประกาศข่าวดีแก่คนยากจน ทรงส่งข้าพเจ้าไปประกาศการปลดปล่อยแก่ผู้ถูกจองจำ คืนสายตาให้แก่คนตาบอด ปลดปล่อยผู้ถูกกดขี่ให้เป็นอิสระ ประกาศปีแห่งความโปรดปรานจากพระเจ้า”(ลก4:18-19)

2.2.2  พระเยซูเจ้าทรงรวมมนุษย์ให้เป็นหนึ่งเดียวกับพระเจ้าและกับเพื่อนมนุษย์ ด้วยชีวิตและงานประกาศข่าวดี ทรงถวายตัวพระองค์ทั้งครบแด่พระบิดาเจ้าเพื่อการปลดปล่อยมนุษย์ และดำเนินชีวิตเป็นหนึ่งเดียวกับพี่น้องผู้ต่ำต้อยที่สุด “เราบอกความจริงแก่ท่านทั้งหลายว่า ท่านทำสิ่งใดต่อพี่น้องผู้ต่ำต้อยที่สุดของเราคนหนึ่ง ท่านก็ทำสิ่งนั้นต่อเรา” (มธ 25:40) และทรงสอนให้มนุษย์มีความยุติธรรมต่อสังคมการเมือง “ของของซีซาร์ จงคืนให้ซีซาร์ และของของพระเจ้า ก็จงคืนให้พระเจ้าเถิด” (มธ 22:21)
2.2.3  พระเยซูเจ้าทรงประกาศบทบาทของพระเจ้าในวิถีชีวิตของมนุษย์ เพื่อให้เกิดความยุติธรรมสำหรับผู้ขัดสนและผู้ถูกกดขี่ ในธรรมเทศนาบทแรกของพระองค์ (ลก 6:21-23)
2.2.4  นักบุญเปาโล สอนให้คริสตชนเจริญชีวิตในความเชื่อที่แสดงออกมาด้วยการปฏิบัติตนต่อผู้อื่นด้วยหัวใจที่รักรับใช้ ซึ่งหมายถึงการยอมรับในศักดิ์ศรีและสิทธิของผู้อื่น ยิ่งคริสตชนแสดงความรักและการรับใช้ผู้อื่นมากเท่าใด ก็จะค้นพบอิสรภาพและความปิติสุขภายในใจมากขึ้นเท่านั้น พร้อมทั้งสามารถช่วยเหลือผู้อื่นให้พบกับอิสรภาพและการหลุดพ้นจากความทุกขเวทนาต่างๆ มากขึ้นด้วย การเจริญชีวิตคริสตชนด้วยความรักและการรับใช้นี้ จะทำให้ความยุติธรรมสมบูรณ์ (ยล34)

2.3   คำสอนด้านสังคมของพระศาสนจักร

2.3.1  พระธรรมนูญว่าด้วยพระศาสนจักรในโลกสมัยนี้ (Gaudium et Spes 1965)
ก. พระศาสนจักรต้องเอาใจใส่ต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในสังคม และเป็นหนึ่งเดียวกันกับครอบครัวมนุษย์ “ความชื่นชมและความหวัง ความโศกเศร้า และความกังวลของมนุษย์ ในสมัยนี้ เป็นต้นของคนยากจน และผู้มีความทุกข์เข็ญทั่วไป ย่อมถือว่าเป็นความชื่นชมและความหวัง เป็นความโศกเศร้าและความกังวลของผู้เป็นศิษย์ของพระคริสตเจ้าด้วย” (ศลน 1)



ข. เป็นสิทธิและความรับผิดชอบของศิษย์ที่ติดตามพระคริสต์ จำต้องทำงานปกป้องศักดิ์ศรีของแต่ละบุคคลอย่างเข้มแข็ง (ศลน 3) และใช้พรสวรรค์อันเป็นของประทาน เพื่อรับใช้ซึ่งกันและกัน (ศลน 7) ทั้งนี้ ไม่ใช่ปัจเจกบุคคลเท่านั้น ที่ได้รับความรอด แต่ทุกคนได้รับความรอดในองค์พระคริสต์ “ขอให้แต่ละคนถือว่าเพื่อนมนุษย์ โดยไม่ยกเว้นแต่คนเดียวเป็นตัวของตนอีกคนหนึ่ง” ก่อนอื่นให้คำนึงถึงชีวิตของเขาและปัจจัยที่เขาจำเป็นต้องมีเพื่อดำรงชีวิตอย่างสมควร เราต้องทำตัวของเราเป็นเพื่อนมนุษย์ของคนทุกคน ต้องรับใช้เขาอย่างแข็งขัน ไม่ว่าเป็นคนชรา ที่ใครๆ ทอดทิ้ง กรรมกรต่างชาติที่ถูก ดูหมิ่น.... คนถูกเนรเทศ.... เด็กที่เกิดจากพ่อแม่ไม่ได้สมรสกันตามกฎหมาย... ไม่ว่าจะเป็นคนหิวโหย... ขอให้เราระลึกถึงพระวาจาของพระคริสตเจ้าที่ว่า “เราบอกความจริงแก่ท่านทั้งหลายว่า ท่านทำสิ่งใด ต่อพี่น้องผู้ต่ำต้อยที่สุดของเราคนหนึ่ง ท่านก็ทำสิ่งนั้นต่อเรา” (มธ 25:40)  (ศลน 27)

2.3.2  เอกสารความยุติธรรมในโลก (Justice in the World 1971) สมัชชาพระสังฆราช ถือเป็นหน้าที่ของพระศาสนจักรในการส่งเสริมความยุติธรรม โดยยืนยันว่า การปฏิบัติความยุติธรรมและการมีส่วนร่วมในการเปลี่ยนแปลงโลกเป็นมิติหนึ่งที่เป็นองค์ประกอบของการประกาศพระวรสาร (ยล 6) กล่าวอีกนัยหนึ่งคือ ภารกิจการช่วยให้รอดของพระศาสนจักร มิได้จำกัดแต่การช่วยด้านชีวิตฝ่ายวิญญาณ แต่ต้องเข้าไปมีส่วนในการเปลี่ยนแปลงชีวิตมนุษย์ฝ่ายโลก กล่าวคือ ด้านสังคม การเมือง และเศรษฐกิจด้วย
2.3.3  สมณสาสน์การเฉลิมฉลองปีที่หนึ่งร้อย (Centesimus Annus 1991) พระศาสนจักรยืนยันว่า ในการส่งเสริมความยุติธรรมจำต้องอาศัยความรัก “เป็นความรักที่มีต่อผู้อื่น เฉพาะอย่างยิ่งเป็นความรักต่อคนจน ซึ่งพระศาสนจักรมองเห็นพระคริสตเจ้าในบุคคลเหล่านั้น” (ฉปร 58)
2.3.4  สารวันสันติสากลประจำปี (Message on Day of Peace) สันติภาพเกิดจากการถือความยุติธรรม “ไม่มีสันติภาพ หากไม่มีความยุติธรรม และจะไม่มีความยุติธรรม หากไม่มีการให้อภัย... สันติภาพที่แท้จริงคือ ผลพวงของความยุติธรรมโดยมีคุณธรรม ศีลธรรมและหลักประกันทางกฎหมาย เป็นสิ่งช่วยให้มั่นใจได้ว่าจะมีการเคารพสิทธิและความรับผิดชอบอย่างครบถ้วน และจะมีการกระจายผลประโยชน์และภาระต่างๆ อย่างเป็นธรรม... ความยุติธรรมที่สมบูรณ์จึงต้องประกอบด้วยการให้อภัย ซึ่งจะช่วยสมานแผลให้หายสนิท และฟื้นฟูความสัมพันธ์อันร้าวฉานของมนุษย์ให้กลมกลืนเป็นหนึ่งเดียวได้อย่างจริงจัง” (สส 2002 ข้อ 15, คำสอนด้านสังคมฯ ภาคอ้างอิง หน้า 190)

3. งานของพระศาสนจักรที่ส่งเสริมความยุติธรรมในสังคม




ในบทสอนของนักบุญเปาโล เกี่ยวกับความรักและความยุติธรรม เป็นคุณธรรม 2 ประการ ที่แยกออกจากกันไม่ได้ในพันธกิจส่งเสริมความยุติธรรมในสังคม ความรักและความยุติธรรมสะท้อนความสัมพันธ์ของศาสตร์ความรักและความเมตตา กับจริยธรรมทางสังคมของคริสตชน ซึ่งปรากฏเด่นชัดในพันธกิจของพระศาสนจักร 2 ประการคือ

3.1 งานสังคมสงเคราะห์ (Social Service / love / charity) งานในลักษณะนี้ ตอบสนองต่อผู้ที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาที่เกิดขึ้น เป็นงานที่อยู่ในมิติของความสนใจ ความห่วงใจ ความสงสาร มีเมตตาธรรม และแสดงออกโดยการช่วยเหลือคนที่เดือดร้อน คนยากจน ผู้ตกทุกข์ได้ยาก ผู้ด้อยโอกาส เช่น การให้อาหารแก่ผู้ที่หิวโหย การบริจาคเสื้อผ้าข้าวของเครื่องใช้ หรือการไปเยี่ยมเยียนผู้ต้องขัง การดูแลเด็กกำพร้า ผู้เจ็บป่วยและคนชรา เป็นต้น
3.2  งานพัฒนาสังคม (Social Action / justice) งานในลักษณะนี้ เป็นการศึกษาเชิงปฏิบัติการ เพื่อแก้ไขต้นเหตุของปัญหา เป็นพันธกิจที่ช่วยกันแก้ไขโครงสร้างสังคมที่ไม่เป็นธรรม เน้นหนักไปที่การค้นพบต้นเหตุของความทุกข์ยาก ที่เกิดขึ้นกับประชาชนอย่างต่อเนื่อง หรือที่เรียกว่าความอยุติธรรมในสังคม และนำไปสู่การแสวงหาแนวทางเพื่อการเยียวยา การแก้ไขต้นเหตุและปัจจัย ที่สร้างความอยุติธรรมนั้นๆ พร้อมกับวางแผนงานพัฒนาชุมชนอย่างเป็นกระบวนการและต่อเนื่อง โดยเน้นการพึ่งตนเองและการพัฒนาที่ยั่งยืนเป็นสำคัญ
อันที่จริงแล้ว งานสังคมสงเคราะห์ งานพัฒนาสังคม และงานส่งเสริมความยุติธรรมในสังคม เป็นงานสามประสานที่เกื้อกูลและเสริมสร้างกันและกัน โดยมีจุดมุ่งหมายร่วมกันที่ต้องการปลดปล่อยให้ตัวบุคคลหรือกลุ่มชนให้เป็นอิสระจากความทุกข์เข็ญในด้านต่างๆ ดังนั้นในขณะที่เราทำงานสังคมสงเคราะห์ เราก็เกี่ยวข้องกับการแก้ไขปัญหาจำเป็นพื้นฐาน ตัวอย่างเช่น เมื่อคนๆ หนึ่งเดินเข้ามาในบ้านของเรา และขออาหาร เพราะเขาตกงาน และเราให้อาหารเขาต่อมาก็หางานให้เขาทำ (เพราะเขาตกงาน) นั่นก็เท่ากับว่า เราทำงานสงเคราะห์และงานส่งเสริมความยุติธรรมในเวลาเดียวกัน
งานส่งเสริมความยุติธรรมเป็นเครื่องมือที่ช่วยคนจน ผู้ด้อยโอกาสหรือผู้ถูกกระทำให้เข้าใจว่า สังคมมีโครงสร้างที่ไม่เป็นธรรมอย่างไร โครงสร้างนั้นส่งผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของพวกเขาอย่างไร และจะร่วมมือกันพัฒนาชุมชนหรือสังคมให้เกิดความยุติธรรมด้วยจิตตารมณ์ของความรักและการรับใช้ ทั้งในเชิงโครงสร้างและการอยู่ร่วมกันได้อย่างไร นอกจากนี้ ความยุติรรมยังเป็นเครื่องมือที่ช่วยคนจนให้มีประสบการณ์ตรงกับพระเจ้า ว่าพระองค์ทรงดำรงอยู่เคียงข้างผู้ต่ำต้อยเสมอ

4.  การศึกษามีความสำคัญต่อการส่งเสริมความยุติธรรมในสังคมได้อย่างไร


4.1  ความยุติธรรมแบบปัจเจก
ปัญหาทุกวันนี้ คนไม่เชื่อว่าความยุติธรรมเป็นสิ่งสำคัญ ที่เราต้องต่อสู้เพื่อให้ได้มา เพราะสังคมปัจจุบันให้ความสำคัญมากต่อการคำนึงถึงประโยชน์ส่วนตัว หรือสิ่งที่ตนเองพึงได้รับ มากกว่าความเห็นอกเห็นใจและการช่วยเหลือเกื้อกูล ความยุติธรรมในสังคมปัจจุบัน เป็นผลสะท้อนสังคมแบบปัจเจกนิยม เป็นความยุติธรรมแบบอัตตา เช่น จะยุติธรรมก็ต่อเมื่อฉันเป็นฝ่ายได้ก่อนคนอื่น ได้มากกว่าคนอื่น หรือจะยุติธรรม ก็ต่อเมื่อฉันเสียน้อยกว่าคนอื่น ซึ่งพอสรุปได้ว่า ความเข้าใจเรื่องความยุติธรรมแบบปัจเจกนี้ เป็นผลมาจากการศึกษา และระบบการเรียนการสอนที่ปลูกฝังเรื่องการแข่งขัน กล่าวคือ ต้องได้ดีกว่าคนอื่น ต้องเก่งกว่าคนอื่น ต้องมีความสามารถกว่าคนอื่น ซึ่งเป็นการหล่อหลอมวิธีคิด และการปฏิบัติเพื่อประโยชน์ของตนเองก่อน คนอื่นทีหลัง


4.2  สถานศึกษา / โรงเรียน เป็นกลไกของสังคมที่มีหน้าที่สำคัญ คือ

4.2.1  เป็นสถาบันที่หล่อหลอมความคิด และประสบการณ์ชีวิตเข้าด้วยกัน กลายเป็นองค์ความรู้ที่สั่งสมมาตามวุฒิภาวะ อันจะเป็นพื้นฐานของการสร้างอุดมการณ์และบุคลิกภาพในชีวิต
4.2.2  ปลูกฝังคุณธรรม สร้างมโนธรรม อบรมบ่มนิสัยและขัดเกลาชีวิตของผู้เรียนให้เป็นคนดี มีจริยธรรม มีความสุข มีความสำนึกดีต่อผู้อื่น ต่อสิ่งแวดล้อม ต่อสังคม ยืนหยัดอยู่บนความถูกต้องและเคารพในศักดิ์ศรี และความต่างของกันและกัน
4.2.3  สร้างบรรยากาศแห่งการอยู่ร่วมกันฉันพี่น้องในครอบครัวเดียวกัน มีความอบอุ่น มีความรัก ความเอื้ออาทร เห็นอกเห็นใจและช่วยเหลือผู้อื่น และร่วมกันพัฒนาศักยภาพและบุคลิกภาพของผู้เรียนและบุคลากรในสถานศึกษา
4.2.4  สถานศึกษา / โรงเรียนคาทอลิก จึงเป็นกระบวนการหล่อหลอมชีวิตมุ่งสู่ความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ ซึ่งถือเป็นพันธกิจสำคัญในการร่วมงานกับพระเจ้า พระผู้สร้างในงานเสริมสร้างและพัฒนาศักยภาพของผู้เรียนตามวัยและวุฒิภาวะ

4.3  การให้การศึกษาเพื่อส่งเสริมความยุติธรรมในสังคมของสถานศึกษา

4.3.1  การให้การศึกษาเรื่องความยุติธรรม เป็นการให้ความสำคัญต่อศักดิ์ศรีและคุณค่าของชีวิตมนุษย์ รวมถึงสิทธิของความเป็นมนุษย์ (สิทธิมนุษยชนศึกษา) ทั้งของตนเองและของผู้อื่น มีสิทธิเท่าเทียมกัน มีความเสมอภาคและอยู่ร่วมกันด้วยความเคารพ มีเมตตาธรรมและช่วยเหลือเกื้อกูลกัน อันจะนำมาซึ่งความผาสุก ทั้งในชีวิตส่วนตัว ส่วนร่วมและสังคมวงกว้าง
4.3.2  การศึกษาเรื่องความยุติธรรมในสังคม ควรมุ่งกระตุ้นให้ผู้เรียนมีชีวิตชีวา รู้จักคิด วิเคราะห์ แยกแยะ และประมวลสรุปเป็นแนวทางหรือหลักปฏิบัติเพื่อกระทำกิจกรรมสรรค์สร้างชีวิตที่ดีงามอย่างมีพลังต่อไป ในช่วงวัยแห่งการศึกษานี้ ผู้เรียนควรผ่านประสบการณ์แห่งการตอบสนองต่อสถานการณ์ทางสังคม รู้จักวิเคราะห์เชิงวิพากษ์ มีความเข้าใจถึงวิกฤตด้านศีลธรรมและชีวิตจิต และมีส่วนร่วมในกิจกรรมทางสังคมตามวุฒิภาวะและในสถานการณ์ที่เหมาะสม กล่าวโดยสรุป การศึกษาเพื่อความยุติธรรมในสังคม คือ การศึกษาเพื่อการเปลี่ยนแปลงทางสังคมให้ดีขึ้น
Brien Wren นักการศึกษา ได้กล่าวถึงความสำคัญของการศึกษาเพื่อส่งเสริมความยุติธรรมในสังคมว่า มีคำกล่าวในอดีตดังนี้ “(ฉัน) ได้ยิน แล้วก็ลืม (ฉัน) เห็น แล้วก็จำ แต่หากฉันทำ ฉันก็เข้าใจ” การศึกษาที่นำความหวังมาสู่ชีวิตใหม่ คือ เราต้องเรียนรู้ความยุติธรรมจาก การกระทำ และปฏิบัติควบคู่ไปกับการไตร่ตรอง (Education for Justice, London:SCM Press 1977,P.11)

4.4  ข้อท้าทายต่อสถาบันการศึกษาคาทอลิก

4.4.1  สถาบันการศึกษาคาทอลิก ต้องเป็นสนามชีวิตที่ให้การศึกษาเพื่อความยุติธรรมให้เป็นจริงเป็นจังมากขึ้น เป็นโอกาสให้ผู้เรียนได้สร้างความตระหนักและเข้าใจสาเหตุที่สลับซับซ้อนแห่งความทุกข์ยากของมนุษย์ เป็นการสร้างภูมิคุ้มกันและเกราะป้องกันสำหรับผู้เรียนทุกคน ให้หลุดพ้นจากอคติ จากความคิดที่เลือกข้าง มองคนอื่นเป็นเขา มิใช่เรา อันเป็นผลมาจากความเป็นเลิศทางวิชาการ การแข่งขัน การชิงความได้เปรียบ และมองข้ามความสำคัญของผู้อื่นที่มีโอกาสน้อยกว่า ซึ่งเป็นผลพวงมาจากค่านิยมของทุนเสรีนิยมใหม่ในสังคมยุคปัจจุบัน
4.4.2  สถาบันการศึกษาคาทอลิกเป็นสถานที่บ่มเพาะ ปลูกฝังมโนธรรมสำนึกทางสังคม และส่งเสริมการปฏิบัติความเมตตารักต่อผู้อื่น ซึ่งหมายถึงการปฏิบัติความยุติธรรมในสังคม เป็นสนามงานที่ฝึกปฏิบัติคุณธรรม จริยธรรมและการอยู่ร่วมกันฉันพี่น้องดุจครอบครัวใหญ่เดียวกัน โดยยึดจิตตารมณ์ของความรักและการรับใช้ และคุณประโยชน์ของส่วนรวมเป็นที่ตั้ง
ผลที่เกิดขึ้นตามมาก็คือ เราจะมีผู้ปกครองที่รับผิดชอบต่ออนาคตของบุตรหลานอย่างมีสำนึก รู้เท่าทันและให้ความอบอุ่นในครอบครัว มีครูที่ไม่ใช้อคติต่อลูกศิษย์หรือเลือกปฏิบัติ แต่พร้อมที่จะอุทิศตนให้กับลูกศิษย์ทุกคน โดยเฉพาะผู้ที่มีโอกาสน้อยกว่า มีนายจ้างที่ดูแลเอาใจใส่ลูกจ้างและให้ค่าแรงอย่างเป็นธรรม มีนักวิชาชีพ เช่น แพทย์ที่มีความเมตตาและมนุษยธรรมในการรักษาผู้เจ็บป่วย มีนักบัญชีที่โปร่งใส ยึดความถูกต้องและเป็นธรรม มีวิศวกรที่ไม่แสร้งคำนวณผิด มีตำรวจที่ไม่มองผู้ต้องสงสัยว่าเป็นคนเลว มีบุคลากรของพระศาสนจักรที่กล้าดำเนินชีวิตอย่างเรียบง่าย รักความเป็นธรรมและอยู่เคียงข้างผู้ด้อยโอกาส มีพวกเราทุกคนที่เห็นอกเห็นใจผู้อื่น และยินดีช่วยเหลือทุกคนโดยไม่ลังเลใจ ฯลฯ

5.  ข้อเสนอเพื่อการพัฒนาการศึกษาเพื่อความยุติธรรม


5.1  กรอบความคิด เรามุ่งหวังให้ผู้เรียนได้บรรลุเป้าหมายที่จะปฏิบัติความยุติธรรมในสังคมดังนี้
5.1.1  ผู้เรียนมีความตื่นตัวถึงประเด็นปัญหาอยุติธรรมที่เกิดขึ้น (การรับรู้การสร้างความตระหนัก)
5.1.2  ผู้เรียนมีความสนใจ ห่วงใย และเห็นอกเห็นใจผู้ที่ประสบความอยุติธรรมมากขึ้น (อารมณ์ ความรู้สึก)
5.1.3  ผู้เรียนมีความมุ่งมั่นที่จะกระทำกิจการใดๆ เพื่อแก้ไขความอยุติธรรม (พฤติกรรม)


5.2  แนวทางที่เป็นไปได้ คือ

5.2.1  สนับสนุนเรื่องความเป็นหนึ่งเดียวกัน โดยจัดให้มีกระบวนการเปลี่ยนจากตนเองสู่ผู้อื่น ดำรงชีวิตในความสัมพันธ์ที่ถูกต้องอย่างมีดุลยภาพกับผู้อื่น กับธรรมชาติ / สิ่งแวดล้อม และเป็นหนึ่งเดียวกับพระเจ้า / สิ่งสูงสุดที่ผู้เรียนนับถือ
5.2.2  ส่งเสริมการศึกษาด้านสังคม โดยอาศัยการศึกษาข้อมูล ข่าวสาร ทางด้านสังคม เศรษฐกิจ การเมือง ศาสนา วัฒนธรรม ที่ส่งผลกระทบต่อชีวิต และคุณค่าความเป็นมนุษย์
5.2.3  จัดให้มีกระบวนการให้การศึกษาอบรมเพื่อปลุกจิตสำนึก และสร้างมโนธรรมที่ถูกต้องทางสังคม เช่น กระบวนการศึกษาความจริงและร่วมชีวิต (Exposure Immersion) สนับสนุนให้ผู้เรียนเข้าร่วมชมรม วาย ซี เอส ฯลฯ
5.2.4  สร้างชุมชนปฏิบัติความยุติธรรม โดยเริ่มจากในห้องเรียน สถานศึกษา / โรงเรียน และในสังคม
5.2.5  เป็นตัวแทนในระดับนโยบาย ด้วยการทำหน้าที่ เป็นปากเป็นเสียง แทนผู้ที่ไม่สามารถสะท้อนปัญหาของตนเองออกมาได้

5.3  เนื้อหาของคำสอนด้านสังคม ในการทำงานส่งเสริมความยุติธรรมในสังคม



5.3.1  ศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์
5.3.2  ความศักดิ์สิทธิ์ของชีวิต
5.3.3  ความเป็นครอบครัวและชุมชน
5.3.4  ความดีส่วนรวม หรือคุณประโยชน์ของทุกคน
5.3.5  สิทธิมนุษยชน / สันติภาพ
5.3.6  การอยู่เคียงข้างกับคนจน / ผู้ด้อยโอกาส
5.3.7  คนงานและสิทธิของคนงาน
5.3.8  ความร่วมมือช่วยเหลือกัน / ความเป็นปึกแผ่น
5.3.9  การเคารพในสิ่งสร้าง – ธรรมชาติ / สิ่งแวดล้อม
5.3.10  หัวใจของผู้สร้างสันติ